
Connected Stories
Sunday 14th May 2017, 2 - 4 pm
@ (TK PARK), Central World
Concerto in B minor
Henri Gustave Casadesus
เฮนรี่ กุสตาฟ คาซาเดซุส (Henri Gustave Casadesus) เกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1879 ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เขาเป็นลูกคนโตของครอบครัว โดยมีน้องชายทั้งหมด 2 คนซึ่งมีบทบาททางด้านดนตรีที่แตกต่างกัน น้องชายคนแรกชื่อ มาริอุส คาซาเดซุส (Marius Casadesus) เป็นนักไวโอลิน และนักประพันธ์เพลง และ น้องชายอีกคนชื่อ Robert-Guillaume Casadesus ซึ่งเป็นนักร้อง และนักประพันธ์เพลงเช่นเดียวกันกับ คาซาเดซุส ซึ่งเป็นพี่คนโต เขาประพันธ์เพลงไว้หลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น ออร์เคสตรา (Orchestra) , คอนแชร์ตันเต้ เพลงเดี่ยวคอนเสิร์ต (Concertante), ดนตรีเชมเบอร์ (Chamber music), ดนตรีประกอบภาพยนต์ (Film music) และประพันธ์ผลงานเปียโน, เพลงร้อง (Vocal music) นอกจากนั้นเขายังเป็นนักวิโอลา และ Viola d'amore ซึ่งก่อนหน้านั้น เขาศึกษาไวโอลินมาก่อนกับ Théophile Laforge ที่ Conservatoire de Paris และได้ทำงานร่วมกับ Camille Saint-Saëns และต่อมาได้มีการก่อตั้งสมาคมเครื่องมือโบราณ (The Société des lnstruments Anciens Casadesus) ขึ้นในปี 1901 และได้จัดเก็บเครื่องดนตรีดังกล่าวไว้ในวง Boston Symphony Orchestra
นอกจากการจัดตั้งสมาคมเครื่องมือโบราณแล้ว เขาได้ประพันธ์ผลงานโดยนำ วิโอลาดากัมบา (Viola da gamba) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่โบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในขณะนั้น เพื่อให้คนหันมาสนใจมากขึ้น และได้ประพันธ์ผลงานโดยใช้ วิโอลาดากัมบา (Viola da gamba) เป็นเครื่องดนตรีในการแสดง ยกตัวอย่างเช่น “La Chasse” และ “Symphonie Concertante” เป็นต้น คาซาเดซุสมีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ผลงานดนตรีของเขา เขาได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นสมาชิกร่วมกับวง Capet Quartet และได้ประพันธ์เพลงสำหรับอุปรากรและบัลเล่ต์ เช่น Ballet divertissement, Jardin des amours, Récréation de la campagne และ Suite florentine ซึ่งได้มีการอัดเสียงโดยบริษัท Columbia recordings นอกจากการฟื้นฟูแนวคิดเครื่องดนตรีเก่าให้ได้รับความนิยมแล้ว เขายังมีผลงานสำคัญของเขาที่ประสบความสำเร็จ โดยใช้แนวคิดและรูปแบบเพลงของนักประพันธ์ยุคก่อน ซึ่งได้แก่ Violin Concerto in D major ในรูปแบบการประพันธ์ของ Mozart, Cello Concerto in C Major ในรูปแบบการประพันธ์ของ J.C.Bach ซึ่งจะเห็นได้ว่า คาซาเดซุสนั้นเป็นผู้ประพันธ์ที่มักจะนำรูปแบบดนตรีของของประพันธ์ในยุคก่อนมาใช้ในหลากหลายผลงาน ซึ่งในผลงานทั้งหมดของเขานั้น คาซาเดซุสได้ประพันธ์บทเพลงสำหรับการแสดงเดี่ยววิโอลาขึ้น ในบทเพลงที่มีชื่อว่า Concerto in B minor ขึ้นซึ่งบทประพันธ์นี้มีทั้งหมด 3 ท่อน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในบันไดเสียง บี ไมเนอร์ โดยเป็นบทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นในปี 1924 ซึ่งอยู่ในช่วงยุคศตวรรษที่ 20 ซึ่งในตอนที่ประพันธ์นั้น เฮนรี่ คาซาเดซุส มีอายุได้ 45 ปี โดยมีการจัดการแสดงครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1926 ในงาน American Premiere โดย Samuel Lifschey เป็นผู้แสดงเดี่ยววิโอลา และ Leopold Stokowski เป็นวาทยากร ร่วมแสดงกับวง Philadelphia orchestra ณ รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ท่วงทำนองของบทเพลงนั้นมีความเป็นดนตรีในรูปแบบของบาโรค เป็นการประพันธ์โดยที่ Henri Casadesus ได้รับแรงบันดาลใจและรูปแบบการประพันธ์มาจาก George Frideric Handel ซึ่งเป็นนักประพันธ์ชาวเยอรมัน ในยุคบาโรค ซึ่งบทเพลงดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 ท่อน ได้แก่ I. Allegro moderato, II. Andante ma non troppo, III. Allegro molto โดยบทเพลงที่เลือกมาบรรเลงในครั้งนี้คือท่อนที่ 2 มีชื่อว่า Andante ma non troppo ซึ่งเป็นท่อนที่มีจังหวะที่ค่อนข้างช้า มีความอ่อนหวานและไพเราะอยู่ในตัวทำนอง ในเวลาต่อมาเพลงนี้ได้ถูกมีการแสดงและบันทึกเสียงโดยนักวิโอลาหลากหลายคน อาทิเช่น William Preucil ในปี ค.ศ. 1937, Pinchas Zukerman ในปี ค.ศ. 1976, Rudolf Barshai ในปี ค.ศ. 1958 และ William Primrose ในปี ค.ศ. 2002 เป็นต้น.

ชื่อหนังสือ: รวมภาพถ่ายเอกรงค์ ๕ ทศวรรษ จากมุมกล้องและห้องมืด
โดย จิตต์ จงมั่นคง ศิลปินแห่งชาติ
“ฉากบางฉากในชีวิต เรื่องราวบางเรื่องในชีวิต ก็เหมือนภาพถ่ายที่ถูกหยุดไว้ด้วยเสียงชัตเตอร์ของกล้องถ่ายรูป
ฉากบางฉากของรูป อาจเป็นที่มาของความทรงจำของผู้ถ่าย
หลากหลายผู้ประพันธ์หยิบยก ภาพความทรงจำนั้นมาสู่บทเพลงของเขา.”
ฉันใส่หูฟังเปิดเพลงนี้ฟัง มือก็เปิดดูหนังสือที่หยิบออกมาจากบนชั้นไปเรื่อยๆ คิดไว้อยู่แล้วว่าควรเป็นหนังสือภาพ เพราะแน่นอนว่าการตีความหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับคนหลายคนเปิดฟังเพลงนี้แล้วได้เห็นภาพไม่เหมือนกัน บางคนเห็นเรือที่เดินทางในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ บางคนรู้สึกเหมือนว่าได้สัมผัสลมเย็นๆ ที่พัดบนยอดหญ้า บางคนเห็นเป็นภาพเก่าๆ แน่นอนการประพันธ์เพลงคงเหมือนกับช่างภาพที่มีความคิดที่จะถ่ายรูปสักรูป กว่าจะได้อะไรมาต้องเกิดจากการให้ความสำคัญกับสิ่งๆนั้น ในหนังสือเล่มนี้ก็เช่นเดียวกัน ภาพทุกภาพเกิดจากการให้ความสำคัญของช่างภาพกับสิ่งสิ่งนั้นในขณะนั้น เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงนี้ที่ให้ความสำคัญกับเครื่องดนตรีโบราณหลายชนิดและความชอบการประพันธ์ในรูปแบบสมัยบาโรค และให้ความสำคัญในบทบาทของเครื่องดนตรีวิโอล่าที่ใช้เป็นเครื่องดนตรีหลักในการถ่ายทอดเรื่องราวของบทเพลงนี้ การให้ความสำคัญกับบทเพลงนี้นั้นได้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของตัวโน้ตและแนวทำนอง เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์เบื้องหน้าของช่างภาพซึ่งทำให้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของรูปภาพต่างๆในหนังสือเล่มนี้
เมื่อเราได้ฟังเสียงดนตรีบนแผ่นกระดาษได้ถูกเล่นออกมา ไปพร้อมๆกับภาพที่หยุดนิ่งในหนังสือเล่มนี้ แต่ทว่ามองดีๆ แล้วภาพนั้นไม่ได้หยุดนิ่งแต่อย่างใด มันเหมือนภาพนั้นเคลื่อนไหวอยู่ในความคิด ในหนังสือแต่ละหน้า ภาพทุกภาพนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งคงเปรียบเสมือนกับความรู้สึกของคนแต่ละคนที่มีต่อเพลงไม่เหมือนกัน และจินตนาการภาพที่แตกต่างกันได้
“ภาพหยุดนิ่ง แต่เสียงดนตรีกลับเคลื่อนไหว สุดท้ายแล้วมันกลายเป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน
ภาพในหนังสือนั้นสวยจนดูแล้วสามารถเคลื่อนไหวไปพร้อมกับเสียงดนตรีได้เอง.”